ตราสัญลักษณ์ สวนล. ภาษาไทย

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กับการวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่
โครงการ “การจัดการทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่วัดเจดีย์(ไอ้ไข่) และพื้นที่รายรอบ”
ต้อนรับคณะผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ตรวจเยี่ยมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 ณ วัดเบิก วัดเจดีย์(ไอ้ไข่) และทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช

          เมื่อวันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม 2564  โครงการวิจัย “การจัดการทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่วัดเจดีย์(ไอ้ไข่) และพื้นที่รายรอบ”  จัดกิจกรรมรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานระยะ 7 เดือน ณ วัดเบิก ตำบลฉลอง อำเภอสิชล  โดยมีคณะผู้ทรงคุณวุฒิจาก บพท. นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วิฑูรย์ เหลียวรุ่งเรือง เดินทางมาตรวจเยี่ยมและให้ข้อแนะนำในการดำเนินงานของนักวิจัย เพื่อให้โครงการบรรลุเป้าหมายและเกิดประโยชน์ต่อพื้นที่และชุมชนอย่างที่สุด  ทั้งนี้ท่านนายอำเภอสิชล (นายไพรัตน์ ทับชุม) ให้เกียรติเป็นประธานในเวทีดังกล่าว และรักษาการแทนรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (ศาสตราจารย์ ดร.วรรณา ชูฤทธิ์)   พร้อมด้วย รักษาการแทนรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรม (อาจารย์ ดร.ชิระวัฒน์ วัฒนพานิช) ร่วมให้การต้อนรับคณะผู้ทรงคุณวุฒิ บพท. และภาคีเครือข่ายวิจัย

          ในโอกาสนี้ เจ้าอาวาสวัดเบิก (พระครูวิศาลธรรมจารี)  ได้นำคณะผู้ร่วมกิจกรรมทำพิธีห่มผ้าพระประธาน “หลวงพ่อใหญ่เมืองอลอง” ณ โบสถ์วัดเบิก เพื่อเป็นสิริมงคลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่  ร่วมเรียนรู้วิถีภูมิปัญญาอาหารท้องถิ่นซึ่งเป็นทุนทางวัฒนธรรม “อาหารในประเพณี” จากผู้รู้ของชุมชนในการทำ “ข้าวยำเครื่อง” ขนม “ต้มใบพ้อ” และ “เหนียวห่อกล้วย”  เรียนรู้ทุนทางวัฒนธรรมสุนทรียกับศิลปินพื้นบ้าน “โนราสมนึก”   ช่างปั้นไก่ชนแก้บนไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์ “ช่างกบปั้นไก่ชน”  และสวนเกษตรต้นแบบ “สวนสละธานินทร์”  รวมทั้งเยี่ยมชมสุสานไก่ชนและพื้นที่ลานวัฒนธรรมวัดเจดีย์   เพื่อเรียนรู้ศักยภาพและทุนทางวัฒนธรรมของพื้นที่วัดเจดีย์(ไอ้ไข่) และพื้นที่รายรอบ

          การนำเสนอความก้าวหน้าในการดำเนินงานของนักวิจัยครั้งนี้ นอกจากได้รับข้อแนะนำจากคณะผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานแล้ว  ยังได้รับฟังข้อเรียนรู้และข้อคิดเห็นจากเครือข่ายวิจัยพื้นที่ ได้แก่ พระครูวิศาลธรรมจารี เจ้าอาวาสวัดเบิก  คุณศุภชัย โจมฤทธิ์ (คณะทำงานวัดเจดีย์) องค์การบริหารส่วนตำบลฉลอง  กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และแกนนำชุมชนในพื้นที่ศึกษา ซึ่งเป็นองค์กรและกลไกหลักในการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน

          โครงการวิจัย “การจัดการทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่วัดเจดีย์(ไอ้ไข่) และพื้นที่รายรอบ”ได้รับสนับสนุนงบประมาณโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้แผนงานริเริ่มสำคัญ (Flagship) ประจำปี 2564 “มหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่” แผนงานย่อย การจัดการทุนทางวัฒนธรรมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและสำนึกท้องถิ่น กรอบการวิจัย มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ เป็นโครงการวิจัยที่ออกแบบกระบวนการทำงานร่วมกันของเหล่าสหสาขาวิชา ประกอบด้วยสำนักวิชาศิลปศาสตร์ สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ และสำนักวิชาการจัดการ โดยมีสถาบันวิจัยและนวัตกรรมเป็นหน่วยบริหารจัดการโครงการ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยฐานทุนวัฒนธรรมในพื้นที่และการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรม ภายใต้ความร่วมมือกับภาคีหลัก ทั้งคณะทำงานวัดเจดีย์(ไอ้ไข่) วัดเบิก ชุมชน และหน่วยงานกลไกพัฒนาพื้นที่ทั้งส่วนงานราชการ องค์กรส่วนปกครองท้องถิ่นและท้องที่ รวมทั้งภาคเอกชน

ภาพประกอบกิจกรรม