ตราสัญลักษณ์ สวนล. ภาษาไทย
ม.วลัยลักษณ์จับมือมหา’ลัยอังกฤษ
จัดประชุมนานาชาติออนไลน์ ISCIR 2022
ม.วลัยลักษณ์ จับมือ ม. Warwick ประเทศอังกฤษ จัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติออนไลน์ ด้านวิศวกรรมโครงสร้าง ISCIR 2022 เชิญนักวิจัยจากทั่วโลกร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พร้อมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบปีที่ 30 แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ผู้อำนวยการ
รองศาสตราจารย์ ดร.ทนงศักดิ์ อิ่มใจ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันวิจัยและนวัตกรรม ม.วลัยลักษณ์ ร่วมกับ The University of Warwick ประเทศอังกฤษ สมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย และสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย จัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ด้านวิศวกรรมโครงสร้าง The 3rd International Symposium on Construction Innovation Research & PhD Symposium (ISCIR 2022) เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความก้าวหน้าและการวิจัยนวัตกรรมด้านวิศกรรมโครงสร้างล่าสุด เชิญนักวิจัยที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศทั่วโลกร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พร้อมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบปีที่ 30 แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในปี พ.ศ.2565 นี้
รองศาสตราจารย์ ดร.ทนงศักดิ์กล่าวว่า การจัดประชุมวิชาการนานาชาติดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยที่ได้ทุนสนับสนุนการวิจัยจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อร่วมมือทำวิจัยกับนักวิจัยในต่างประเทศแบบทวิภาคี ระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประเทศไทย และ The University of Warwick ประเทศอังกฤษ โดยกำหนดเป้าหมายการของโครงการดังกล่าว นอกจากการจัดประชุมวิชาการแล้ว ยังได้มีผลงานวิจัยร่วมกัน และตีพิมพ์ผลงานวิจัย 2 ผลงานในฐาน Scopus Q1 (tier 1) การผลิตนวัตกรรมเครื่องย่อยคอนกรีตต้นทุนต่ำเพื่อใช้ในประเทศไทย (https://youtu.be/7dPZ93q5FWs) ตลอดจนการนำนวัตกรรมไปเสริมกำลังสิ่งสร้าง/บ้านเรือนที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวในจังหวัดเชียงรายอีกด้วย
ภาพกิจกรรม ISCIR2022
“เราจัดประชุมมา ISCIR มาอย่างต่อเนื่อง 2 ครั้งแล้ว ซึ่งได้รับเสียงตอบรับอย่างดีมาก การประชุม ISCIR 2022 ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 มีนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศกว่า 20 มหาวิทยาลัยเข้าร่วม ประกอบด้วย ประเทศอังกฤษ อเมริกา สเปน โปรตุเกส อิตาลี บราซิล ญี่ปุ่น และไทย จำนวนกว่า 70 คน คาดว่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักวิจัยรุ่นใหม่ รวมถึงนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมทางวิศวกรรรมโครงสร้าง เปิดโอกาสให้สร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนความรู้กับนักวิจัยในต่างประเทศ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในอนาคตต่อไป” รองศาสตราจารย์ ดร.ทนงศักดิ์กล่าว