ตราสัญลักษณ์ สวนล. ภาษาไทย

SDG 5 : GENDER EQUALITY

SDG
SDG

เป้าหมายที่ 5 บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศและให้อำนาจของผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านผู้หญิงและความมั่นคงทางสังคม

Center of Excellence on Women and Social Security

     ผู้หญิงกับการพัฒนา (Women and Development) และเพศสภาพกับการพัฒนา (Gender and Development) เป็นกรอบแนวคิดหลักในการศึกษาเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาสังคมที่มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยการนำศาสตร์ด้านสตรีศึกษาซี่งสัมพันธ์กับโครงข่ายความรู้ทางสังคมศาสตร์และสหวิทยาการใช้เสริมศักยภาพและดึงความสามารถของผู้หญิง ตลอดจนนำพลังของผู้หญิงมาใช้ในการดำเนินงานพัฒนามิติต่างๆ เช่น การเคลื่อนไหวเพื่อรักษาสมดุลของสภาวะแวดล้อม นับเป็นการสนองตอบต่อสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรและรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดการใช้สอยอย่างยุติธรรมและยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติอันสัมพันธ์กับความต้องการเชิงยุทธศาสตร์ที่มากขึ้นของผู้หญิง (strategic gender needs of women) รวมทั้งประเด็นสำคัญอื่นๆ ในงานพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ อาทิ การจัดบริการสุขภาพและความสามารถในการเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เข้าใจและเข้าถึงสิทธิพลเมืองหญิง เป็นต้น

     กรอบแนวคิดข้างต้นมีการศึกษาวิเคราะห์เพื่อนำไปกำหนดใช้เชิงนโยบาย  อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และสตรีศึกษาได้วิพากษ์วิจารณ์เพื่อชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดและประเด็นที่จำเป็นต่อการขบคิดเพื่อพัฒนาต่อเนื่อง โดยเฉพาะการวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันและโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับภาคปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้ แผนการยกระดับความเสมอภาคทางเพศและสถานะของผู้หญิงจึงต้องสอดรับกันระหว่างข้อเสนอเชิงนโยบายกับแผนปฏิบัติการจริง (policies to meet practical gender needs) ผ่านการจัดการความรู้ พัฒนาทักษะใหม่ ที่มาจากการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมตามกรอบแนวคิดที่ได้จากการศึกษา รวมทั้งสอดคล้องกับบริบทของแต่ละสังคม

     ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีภารกิจหลักเพื่อสร้างความรู้ทางวิชาการและนวัตกรรม มีเป้าหมายของการเป็นแหล่งความรู้ที่ผ่านงานวิจัยหรือการศึกษาอย่างเป็นระบบและมีระเบียบในทางวิชาการ ตลอดจนมุ่งบริการความรู้สู่ชุมชนรวมทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน  ดังนั้น การยกระดับและต่อยอดองค์ความรู้ผ่านชุดคำอธิบายใหม่อันสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่มุ่งเน้นไปยังการสร้างความมั่นคงของมนุษย์อย่างยั่งยืน รวมทั้งทิศทางการปรับตัวของประเทศไทยตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  งานในด้านผู้หญิงกับความมั่นคงทางสังคมจึงมีความสำคัญที่จะต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง ดังเห็นได้จากสถานการณ์บ้านเมืองและข่าวสารประจำวันที่สะท้อนภาพสังคมไทยเผชิญกับปัญหาผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศ ผลกระทบจากความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ที่มีต่อภาวะความยากลำบากในการดำรงชีวิตทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ การศึกษาของผู้หญิงและเด็ก และการถูกกระทำความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ อันเนื่องมาจากการเลือกปฏิบัติด้วยเงื่อนไขของเพศสภาพ นำมาซึ่งสังคมที่ไร้เสถียรภาพและความมั่นคง

     ในฐานะองค์กรธรรมรัฐและเพื่อตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของสถาบันว่าด้วย “การเป็นหลักในถิ่น เป็นเลิศสู่สากล” บุคลากรมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทั้งอาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย และนักศึกษา ที่ให้ความสนใจและมุ่งมั่นในการพัฒนางานทั้งมิติความเสมอภาคทางเพศ การพัฒนาผู้หญิง ความมั่นคงของมนุษย์และสังคมร่วมกันวางทิศทางการงานวิชาการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับภูมิภาค ประเทศ และนานาชาติ เช่น การพัฒนางานบริการวิชาการร่วมกับภาคประชาสังคมภาคใต้ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักข่าวชายแดนภาคใต้ และ Oxfam  มีการเขียนและร่วมนำเสนอรายงานคู่ขนานของประเทศไทยที่กรุงเจนีวา ตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (CEDAW) ปี 2560 รวมทั้งการวิจัยและสอนในวิชาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นศักยภาพผู้หญิงและเพศสภาพ ได้แก่ เพศกับสังคม ผู้หญิงกับการเมือง และสตรีศึกษา ด้วยเหตุนี้ การก่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านผู้หญิงและความมั่นคงทางสังคม จึงนับเป็นก้าวย่างสำคัญที่มหาวิทยาลัยสามารถตอบสนองและดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติได้อย่างทันท่วงที สอดรับกับบริบทสังคมที่ต้องการแหล่งข้อมูล ความรู้อันเที่ยงธรรม รวดเร็ว และแม่นยำ เพื่อถมช่องว่างที่สังคมขาดการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างรอบด้าน การวิเคราะห์และเรียงร้อยให้เห็นถึงสถานะ บทบาท และสภาวะของผู้หญิงที่สำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศชาติ และสอดรับกับความ

ทั้งนี้สามารถติดตามการดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านผู้หญิงและความมั่นคงทางสังคม ได้ทาง