ตราสัญลักษณ์ สวนล. ภาษาไทย

สถาบันวิจัยและนวัตกรรม จัดเวทีนำเสนอข้อเสนอโครงการวิจัยท้าทายไทย

เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 สถาบันวิจัยและนวัตกรรม จัดกิจกรรมพิจารณาข้อเสนอโครงการวิจัยเชิงพื้นที่ “โครงการการสร้างความความมั่นคงด้านอาชีพ ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ระยะที่ 2” ภายใต้โครงการวิจัยท้าทายไทย กลุ่มเรื่องนวัตกรรมทางความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่ (ปีที่ 2)

โดยโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) และมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สกว. เป็นผู้บริหารจัดการทุน โดยมีระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่ วันที่ 17 เดือน กันยายน พ.ศ. 2561 ถึง วันที่ 16 เดือน มกราคม พ.ศ. 2563 รวมระยะเวลา 16 เดือน เป้าหมายสำคัญของโครงการที่สำคัญมี 2 ด้าน คือการพัฒนาระบบบริหารจัดการทุนวิจัยของมหาวิทยาลัย และด้านที่สองคือการพัฒนาพื้นที่ให้มีความมั่นคงด้านอาชีพ โดยเน้นอาชีพการทำนาข้าวพันธุ์พื้นเมือง การทำไร่จาก และการปลูกพืชผัก มีพื้นที่เป้าหมายคือ อำเภอปากพนัง และอำเภอหัวไทร ซึ่งสถาบันวิจัยและนวัตกรรมได้จัดเวทีพัฒนากรอบโจทย์วิจัย เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2561 โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมทั้งภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ในพื้นที่ และประกาศรับทุนวิจัย เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 สิ้นสุดรับข้อเสนอโครงการเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2562 แต่เนื่องจากสภาวะการเฝ้าระวังและรับมือกับปาบึก จึงทำให้มีบางโครงการส่งข้อเสนอเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2562 ตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมาสถาบันวิจัยและนวัตกรรม ได้จัดประชุมเพื่อชี้แจงแนวทางการเขียนข้อเสนอโครงการจำนวน 1 ครั้ง จัดเวทีเพื่อระดมความเห็นนักวิจัยกลุ่มต่างๆที่สนใจยื่นข้อเสนอโครงการ จำนวน 2 ครั้ง และนำนักวิจัยลงพื้นที่ อีกจำนวน 2 ครั้ง เพื่อหาข้อมูลและพัฒนาข้อเสนอโครงการ ซึ่ง มีนักวิจัยส่งข้อเสนอโครงการทั้งในลักษณะชุดโครงการ และโครงการเดี่ยว หน่วยจัดการได้สกรีนโครงการเดี่ยวซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของประกาศทุน จำนวน 2 โครงการ จนในที่สุดมีนักวิจัยที่พร้อมสำหรับการนำเสนอโครงการจำนวน 4 ชุดโครงการ ได้แก่ ประเด็นข้าวพันธุ์พื้นเมือง จำนวน 1 ชุดโครงการ คือ ชุดโครงการการพัฒนาข้าวกล้องและผลิตภัณฑ์จากข้าวกล้องคุณภาพสูงสำหรับตลาดพรีเมียม โดยมี รศ.ดร.นฤมล มาแทน สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร เป็นหัวหน้าชุดโครงการ ประเด็นอาชีพไร่จาก มีข้อเสนอโครงการจำนวน 2 ชุด ได้แก่ ชุดที่ 1 การออกแบบเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อผลทางความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจและภูมิปัญญาของชุมชนขนาบนาก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดย อาจารย์ภริตพร แก้วแกมเสือ สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ชุดที่ 2 โครงการยกระดับ และพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ต้นจาก ลุ่มน้ำปากพนัง เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ สู่ตลาดเชิงพาณิชย์ อย่างยั่งยืน โดย อาจารย์ ดร.รุ่งรวี จิตภักดี สำนักวิชาการจัดการเป็นหัวหน้าชุดโครงการ ส่วนประเด็นพืชผักมีจำนวน 1 ชุดโครงการวิจัย ได้แก่ โครงการยกระดับระบบการผลิตของเกษตรกรอาชีพปลูกพืชผัก สู่ระบบการผลิตที่แบบปลอดภัยได้มาตรฐาน ตำบล ท่าซอม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดย อาจารย์ ดร.จินตนีย์ รู้ซื่อ เป็นหัวหน้าชุดโครงการวิจัย 
การพิจารณาข้อเสนอโครงการในครั้งนี้ สถาบันวิจัยและนวัตกรรม วางรูปแบบการดำเนินการไว้สองวัน โดยวันที่ 14 มกราคม 2562 เป็นเวทีกิจกรรมการซักซ้อมนำเสนอชุดโครงการวิจัย ซึ่งได้รับความกรุณา จากคุณเบญจมาศ ตีระมาศวณิช ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงหลัก มารับฟังการนำเสนอ และแลกเปลี่ยนมุมมอง ในการเตรียมข้อมูลสำหรับการนำเสนอต่อผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ทำให้นักวิจัยตื่นตัว และมีความกระตือรือร้นในการเตรียมข้อมูลเพื่อมานำเสนอในเวทีจริง
การจัดเวทีพิจารณาข้อเสนอโครงการในวันที่ 15 มกราคม 2562 นี้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย โดย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย คุณเบญจมาศ ตีระมาศวณิช พี่เลี้ยงหลักของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ภายใต้โครงการวิจัยท้าทายไทย กลุ่มเรื่องนวัตกรรมทางความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่ (ปีที่ 2) ดร.เลิศชาย ศิริชัย รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย พันเอกนายแพทย์วิเชียร ชูเสมอ นายศุภชัย อักษรวงศ์ ดร.อัมพร หมดเด็น รวมทั้งภาคีเครือข่ายสำคัญจากศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เกษตรอำเภอปากพนัง และ อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) พาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราช ธนาคาร SME องค์การบริหารส่วนตำบลขนาบนาก และ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าซอม และที่สำคัญคือตัวแทนเกษตรกรซึ่งจะเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย 
ในการจัดเวทีดังกล่าว ชุดโครงการวิจัยทั้ง 3 ประเด็น มีข้อเสนอโครงการทั้งหมด 4 ชุดโครงการวิจัย (ประเด็นข้าว 1 ชุดโครงการ ประเด็นไร่จาก 2 ชุดโครงการ และประเด็นพืชผัก 1 ชุดโครงการ) จำนวนโครงการวิจัยย่อยจำนวน 20 โครงการ มีนักวิจัยทั้งสิ้นจำนวน 29 คน มีนักวิจัยหน้าใหม่ที่ยังไม่เคยดำเนินการวิจัยเชิงพื้นที่ จำนวน 15 คน ซึ่งจากนักวิจัย 28 คน แบ่งเป็นนักวิจัยจากสำนักวิชาการจัดการจำนวน 13 คน สำนักวิชาแพทยศาสตร์ 1 คน สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ 1 คน สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ 2 คน สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จำนวน 4 คน สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร จำนวน 3 คน สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ จำนวน 2 คน สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์จำนวน 2 คน รวมทั้งในครั้งนี้มีนักวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมน้ำมันหอมระเหยร่วมส่งข้อเสนโครงการด้วย งบประมาณรวมทั้งสิ้น ที่นักวิจัยยื่นข้อเสนอโครงการจำนวน 6,508,640 บาท (งบประมาณเพียงพอสำหรับการสนับสนุน 3,200,000) ซึ่งนับว่าเป็นการแข่งขันที่สูงพอสมควร 
ภาพรวมของเวทีการพิจารณาข้อเสนอโครงการ สถาบันวิจัยและนวัตกรรมได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม มีท่านรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.อภินันท์ สุประเสริฐ กล่าวรายงานและร่วมเวทีในช่วงเช้า ผศ.ดร.ยุวดี วิทยพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมเป็นผู้ดำเนินการจัดประชุม รวมทั้ง ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ เป็นผู้สรุปประเด็นการประชุมในเวที 
บรรยากาศการประชุมพิจารณาข้อเสนอโครงการเริ่มต้นจากการนำเสนอข้อมูลสรุปภาพรวมของการยื่นข้อเสนอโครงการและสถานการณ์การดำเนินงาน โดย ผศ.ดร.ยุวดี วิทยพันธ์ หลังจากนั้น เป็นการนำเสนอของแต่ละชุดโครงการ โดยมีกติกา การนำเสนอภาพรวมของชุดโครงการและพูดถึงรายละเอียดของโครงการย่อย ชุดโครงการละ 30 – 40 นาที โดยให้อิสระแก่ทุกชุดโครงการวิจัย ในการเลือกวิธีนำเสนอ ซึ่งบางชุดนำเสนอโดยหัวหน้าชุดโครงการเพียงคนเดียว หรือบางชุดโครงการนำเสนอทุกคน แต่ต้องรักษาเวลาให้อยู่ใน 40 นาที (ใช้วิธียกป้ายหมดเวลาและกดกริ่ง) หลังจากนั้นจะเป็นการเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิอีกชุดโครงการละ ประมาณ 30 – 40 นาที จุดเด่นของโครงการในปีนี้ คือการรวมกันเป็นลักษณะชุดโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ได้ชัดเจนขึ้น ข้อเสนอแนะในภาพรวมของทุกชุดโครงการที่เป็นจุดอ่อนของโครงการวิจัยเชิงพื้นที่คือการฉายภาพบริบทของพื้นที่ ขนาดของปัญหา คำถามการวิจัยที่ชัดเจน และการเชื่อมโยงเพื่อตอบโจทย์ภาพรวมของชุดโครงการ สถาบันวิจัยและนวัตกรรมขอบพระคุณ คุณเบญจมาศ ตีระมาศวณิช พี่เลี้ยงหลัก ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ดร.เลิศชาย ศิริชัย พันเอก นพ.วิเชียร ชูเสมอ ดร.อัมพร หมาดเด็น ภาคีเครือข่ายที่ได้กล่าวไปแล้วทุกท่าน และที่สำคัญคือ ขอบคุณในความตั้งใจของนักวิจัยทุกท่าน ที่ทุ่มเทในการนำเสนอข้อเสนอโครงการในครั้งนี้ 
สำหรับผลการพิจารณาข้อโครงการนั้น สถาบันวิจัยและนวัตกรรม จะประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการภายในวันที่ 20 มกราคม 2562

ประมวลภาพ