ตราสัญลักษณ์ สวนล. ภาษาไทย

ม.วลัยลักษณ์ ศึกษาดูงานด้านการจัดการเรียนการสอนและการวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา ณ สถาบันวิทยสิริเมธี

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.จรัญ บุญกาญจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และรองศาสตราจารย์ ดร.วรรณา ชูฤทธิ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม นำทีม คณบดี หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศ และหัวหน้าสถานวิจัย จำนวน 26 คน เดินทางไปศึกษาดูงานด้านการจัดการเรียนการสอนและการวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา ณ สถาบันวิทยสิริเมธี จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติอย่างยิ่งจาก ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มาบรรยายเกี่ยวกับภัยคุกคามที่สำคัญต่อระบบการศึกษาไทย แก่คณะศึกษาดูงาน 

ดร.ไพรินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยควรมีการสอนหลักการคิดวิเคราะห์และศิลธรรมจริยธรรมควบคู่กันไป และคิดว่ามหาวิทยาลัยที่มีความเด่นเฉพาะบางเรื่อง มีชื่อเสียงและผลงานเป็นที่ประจักษ์จะมีเด็กเข้ามาเรียน มากกว่าการขยายมหาวิทยาลัยให้โตขึ้นแต่ไม่มีเด็กเข้ามาเรียน ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยในประเทศไทยกว่า 200 แห่งมีการแข่งขันสูง ในขณะที่โรงเรียนมีวิกฤติปิดตัวไปหมื่นกว่าแห่ง ฉะนั้นถ้ามหาวิทยาลัยปรับตัวได้ก็จะอยู่รอดในสถานการณ์เช่นนี้ 

จากนั้น ศาสตราจารย์ ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี ได้นำชมห้องเรียนและห้องปฏิบัติการในแต่ละด้านของสถาบัน ประกอบด้วย ด้าน Biomolecular Science and Engineering ด้าน Molecular Science and Engineering ด้าน Energy Science and Engineering และด้าน Information and Engineering พร้อมทั้งให้คำแนะนำและถ่ายทอดประสบการณ์ในการจัดหาเครื่องมือในห้องปฏิบัติการแก่คณะศึกษาดูงาน ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นจากการเยี่ยมชมสถาบัน อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ประชุมสรุปงาน ถอดบทเรียนจากการศึกษาดูงานในครั้งนี้ พร้อมทั้งมอบหมายผู้รับผิดชอบในเรื่องต่างๆ 

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยตั้งใจจะสร้างอาคารศูนย์วิจัยความเป็นเลิศ และจะพัฒนากลุ่มอาจารย์ในสาขาความเชี่ยวชาญต่างๆ มหาวิทยาลัยต้องการสร้างความมั่นใจว่า บัณฑิตของเราจะต้องทำงานได้ทั่วประเทศและทั่วโลก ในอนาคตเราจะเน้นเรื่องคุณภาพให้มากขึ้น ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่เริ่มจากสิ่งที่มีอยู่แล้วและจะเดินหน้าจากสิ่งที่มีอยู่แล้วนี้ให้มีคุณภาพ เชื่อว่าถ้าเรามีความมุ่งมั่นก็จะสามารถขับเคลื่อนได้ 

ขณะเดียวกัน อธิการบดีได้มอบหมายให้รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม แบ่งกลุ่มนักวิจัยออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาจารย์ที่มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ระดับสูง กลุ่มอาจารย์ที่มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ระดับกลาง และกลุ่มอาจารย์ที่มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ระดับน้อย พร้อมแนวทางการสนับสนุนนักวิจัย เพื่อการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศ โดยมหาวิทยาลัยพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้นักวิจัยได้ทำงานอย่างมีความสุข 

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มุ่งหวังที่จะพัฒนาศักยภาพในการบริหารจัดการงานวิจัยแบบมืออาชีพ ซึ่งการได้ไปศึกษาดูงาน ณ สถาบันวิทยสิริเมธี ที่มีความโดดเด่นทางการวิจัยในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษาและการบริหารงานวิจัยตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี 

ประมวลภาพ 

ภาพและข่าวโดย: หน่วยประสานงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กรุงเทพมหานคร


  • วันที่ส่งข่าว – 29/05/2562
  • หน่วยงานผู้ส่งข่าว – หน่วยประสานงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์