ตราสัญลักษณ์ สวนล. ภาษาไทย

หน่วยวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก ม.วลัยลักษณ์ : “ไชยาโมเดล”

หน่วยวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดโครงการประชุมถ่ายทอดเทคโนโลยี “ไชยาโมเดล” โมเดลเครือข่ายระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้ลือดออกอย่างยั่งยืน สู่แกนนำระดับอำเภอทั้ง 19 อำเภอของจังหวัดสุราษฎร์ธานี” เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมบรรจงแกรนด์บอลรูม 2 โรงแรมบรรจงบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีนายจิระศักดิ์ ชัยฤทธิ์ นายอำเภอไชยา ให้เกียรติเปิดการประชุมและบรรยายเกี่ยวกับบทบาทนายอำเภอต่อการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืน และการนำเสนอแนวคิด R to R of ABCR for D (Routine to Research of Area Based Collaborative Research for Development) และ CPAR (Community Participatory Action Research) วิธีการในการดำเนินการวิจัยเชิงพื้นที่และรับใช้สังคม โดยรองศาสตราจารย์ ดร. จรวย สุวรรณบำรุง ตลอดถึงการนำเสนอ “ไชยาโมเดล” ที่เป็นผลงานการดำเนินการของเครือข่ายสุขภาพอำเภอไชยา โดย คุณพจนา เหมาะประมาณ และคณะ

รองศาสตราจารย์ ดร.จรวย สุวรรณบำรุง หัวหน้าหน่วยวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก และอาจารย์สำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับ เครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอไชยา โดยนายอำเภอไชยา สาธารณสุขอำเภอไชยา โรงพยาบาลไชยา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง โรงเรียน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และประชาชน ได้ดำเนินการพัฒนาระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกที่ครอบคลุมทั้งอำเภอไชยา ภายใต้ชื่อ “ไชยาโมเดล”

รองศาสตราจารย์ ดร.จรวย เล่าว่า การประชุมถ่ายทอดเทคโนโลยี “ไชยาโมเดล” ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎณ์ธานี ในการประสานงานภาพรวมทั้งจังหวัด การดำเนินการของเครือข่ายสุขภาพของอำเภอไชยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก และอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน จาก 19 อำเภอของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าร่วมจำนวนกว่า 400 คน

รองศาสตราจารย์ ดร.จรวย เล่าต่อว่า ผลการจัดประชุมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดสุราษฎร์ธานี สามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ คือ 1) อำเภอไชยาได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกของ “ไชยาโมเดล : โมเดลเครือข่ายระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืน 2) การสร้างเครือข่ายการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืนจากครัวเรือนถึงอำเภอของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และ 3) มีอำเภอที่ต้องการการสนับสนุนให้มีการดำเนินการพัฒนาระบบเฝ้าระวัง ดัชนีลูกน้ำยุงลายเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกโดยมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

“ไชยาโมเดล” โมเดลเครือข่ายระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืน มีผลลัพธ์ที่สำคัญคือ 1) จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกในช่วงดำเนินการมีเพียง 1 ราย จากเดิมที่อำเภอไชยามีรูปแบบของการระบาดของโรคไข้เลือดออกแบบปีเว้น 2 ปี และปีเว้นปี โดยประเมินจากข้อมูลที่ผ่านมา พ.ศ. 2553, 2554, 2555, 2556, 2557 และ 2558 มีอัตราการป่วย คือ 343.5, 16.5, 38.5, 52.4, 31.9 และ 19.9 ราย/แสนประชากร ตามลำดับ 2) มีข้อมูลระดับหมู่บ้านพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้เลือดออกทั้ง 54 หมู่บ้าน 3) Best Practice การพัฒนาสมรรถนะชุมชนในการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก 3 ตำบล 4) มีระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกทั้งอำเภอ 5) สมรรถนะด้านความรู้เรื่องโรคและดัชนีลูกน้ำยุงลายของอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน จำนวน 1,007 คน และ 6) ศูนย์เฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายในระดับตำบลและอำเภอ รวม 11 ศูนย์

นอกจากนี้ ยังพบว่า เกิดกระบวนการที่สำคัญของกลุ่มเครือข่ายการทำงาน 4 กลุ่ม (A-B-C-D) ได้แก่ กลุ่ม A กลุ่มผู้ผลิตข้อมูลที่เป็นประชาชนและอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน กลุ่ม B กลุ่มศูนย์เฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายหรือเจ้าหน้าที่ทำงาน กลุ่ม C กลุ่มผู้ใช้ข้อมูล และกลุ่ม D กลุ่มสนับสนุนให้ความสะดวกกับการดำเนินการ ทั้งหมดนี้ ถือเป็นจุดเด่นและส่งผลให้เกิดการตื่นตัวทั้งอำเภอไชยา

“การดำเนินการประชุมถ่ายทอดเทคโนโลยี “ไชยาโมเดล” นับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเครือข่ายการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืนในภาพรวมของจังหวัด หน่วยวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขอขอบพระคุณทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการทั้งหมด จาก กำแพงเซาโมเดล ลานสกาโมเดล ถึง ไชยาโมเดล” รองศาสตราจารย์ ดร.จรวย สุวรรณบำรุง หัวหน้าหน่วยวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก กล่าวในตอนท้าย

ประมวลภาพ

ภาพข่าวโดย รองศาสตราจารย์ ดร.จรวย สุวรรณบำรุง