ตราสัญลักษณ์ สวนล. ภาษาไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เรวัต สุขสิกาญจน์ : การวิจัยและสร้างสรรค์เพื่อพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์หัตถกรรมภาพแกะหนังตะลุง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เรวัต สุขสิกาญจน์ อาจารย์ประจำสาขาการออกแบบอุตสาหกรรม สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พัฒนาและออกแบบหัตถกรรมภาพแกะหนังตะลุงให้มีความแตกต่างและโดดเด่นเฉพาะตัว โดยสร้างสรรค์รูปแบบให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค เพื่อสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มผู้ผลิตตั้งแต่ระดับชุมชนท้องถิ่นจนถึงระดับสากล ที่สำคัญเป็นการอนุรักษ์สืบสานหัตถกรรมพื้นบ้านให้คงอยู่คู่วิถีชีวิตของภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช

งานหัตถกรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นคู่กับวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คน มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เรียบง่ายและงดงาม มีคุณค่าและความสำคัญในแง่ของศิลปะและหัตถกรรม นอกจากนี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอยู่ สภาพเศรษฐกิจ สังคม ตลอดเวลาของการสร้างศิลปะนั้นๆ งานหัตถกรรมจึงไม่ได้เป็นเพียงการสร้างสรรค์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นการสร้างสรรค์ซึ่งมีลักษณะของช่างพื้นบ้านที่ปรากฏออกมา โดยผสมผสานกับวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมและประเพณีที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษรุ่นสู่รุ่นเป็นเวลานับร้อยปี

หัตถกรรมแกะหนังเป็นหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่อดีตควบคู่กับการเล่นหนังตะลุง ซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมของชาวภาคใต้ ซึ่งแต่เดิมใช้เพื่อการแสดงหนังตะลุงที่ทำกันอยู่ในวงแคบๆ ต่อมาได้มีผู้คิดค้นแกะรูปหนังตะลุงออกจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ ตามตลาดนัดแรงงานและเทศกาลต่างๆ มากยิ่งขึ้น ด้านรูปแบบก็ค่อยๆ พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป แทนที่จะแกะรูปหนังเชิดอย่างเดียว ก็แกะเป็นรูปหนังใหญ่ รูปหนังสำหรับประดับตกแต่ง หรือ พวงกุญแจของที่ระลึก เป็นต้น

จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นจังหวัดที่มีการผลิตงานหัตถกรรมหลากหลายประเภทที่สืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งชื่อเสียงด้านหัตถกรรมประณีตศิลป์มีเอกลักษณ์โดดเด่นที่สุดในภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัตถกรรมภาพแกะหนังตะลุง แต่ปัจจุบันได้มีการผลิตหัตถกรรมประเภทนี้ในระบบหัตถอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่ของภาคใต้ ทำให้รูปแบบที่ผลิตออกมาไม่แตกต่างกัน ส่งผลต่อรายได้ที่ลดลงของผู้ผลิตที่สร้างสรรค์ผลงานมาแต่เดิมในเชิงศิลปะและการอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญา ที่สำคัญทำให้ไร้คนสืบทอดงานสร้างสรรค์ในอนาคต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เรวัต สุขสิกาญจน์ ซึ่งเป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยกำเนิด และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีและโททางด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ มีความเห็นว่า คุณค่าอันสื่อถึงเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นนั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาและสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อให้มีความแตกต่างและโดดเด่นเฉพาะตัว จึงจะทำให้งานหัตถกรรมภาพแกะหนังตะลุงยังคงอยู่คู่กับท้องถิ่นและสังคมไทย ทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าและเพิ่มรายได้ในการเลี้ยงตนเองของผู้ผลิตงานศิลป์ประเภทนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

ดังนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์เรวัต จึงมีแนวความคิดในการพัฒนาและออกแบบหัตถกรรมภาพแกะหนังตะลุง เพื่อตอบสนองการแก้ปัญหาดังกล่าว ทั้งการอนุรักษ์ สืบสาน ออกแบบและพัฒนารูปแบบผลงานสร้างสรรค์ที่หลากหลายเพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค แต่ยังคงคุณค่าเอกลักษณ์ของงานหัตถกรรมภาพแกะหนังตะลุงไว้ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้และสามารถพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่นได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งขยายผลสู่วงกว้างตั้งแต่ระดับชุมชนท้องถิ่นจนถึงระดับสากล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เรวัต เล่าให้ฟังถึงวิธีการทำงานว่า มีอยู่ 2 แนวทาง คือ 1) กระบวนการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการวิจัยทุกขั้นตอน เพื่อชุมชนจะสามารถพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์หัตถกรรมหนังตะลุงภายใต้บริบทของตนเองได้อย่างยั่งยืน และ 2) กระบวนการวิจัยออกแบบและสร้างสรรค์ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นนวัตกรรม และตอบสนองการใช้งานของผู้บริโภค โดยเน้นตลาดเจาะจง (niche market) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ และเพิ่มรายได้ให้ผู้ผลิต

ทั้งนี้ ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2552 ผู้ช่วยศาสตราจารย์เรวัต ได้เริ่มต้นเกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์หัตถกรรมภาพแกะหนังตะลุง จากการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมกับชุมชนสร้างสรรค์หัตถกรรมภาพแกะหนังตะลุง ตำบลปากพูน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัย นักพัฒนา และกลุ่มชุมชน โดยเริ่มจากการศึกษาและวิเคราะห์ปัญหา การศึกษาแนวทางในการแก้ไขปัญหา การวางแผนดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา การปฏิบัติตามแผน และ การติดตามและประเมินผล ทั้งยังมีการสะท้อนกลับของการวิจัย เพื่อปรับปรุงแก้ไขในสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้วสู่การแก้ปัญหาใหม่ มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนารูปแบบ จนได้ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมหนังตะลุง อาทิ กระเป๋าสะพาย กระเป๋าถือ ชุดเครื่องประดับ เป็นต้น จากนั้นจะมีแกนนำในชุมชน นำผลงานต้นแบบไปปรับใช้เพื่อการผลิต เป็นการส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แก่เยาวชนในท้องถิ่น โดยถ่ายทอดให้กับเยาวชนและผู้ที่มาศึกษาดูงาน ณ ศูนย์การเรียนรู้บูรณาการท้องถิ่นเป็นประจำ

หลังจากนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์เรวัต ได้มีโอกาสออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในลักษณะบริการวิชาการสำหรับวิสาหกิจชุมชนในกลุ่มผู้ผลิตหัตถกรรมภาพแกะหนังตะลุงเรื่อยมา จนกระทั่งในปี พ.ศ.2556 ได้ทำการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ เรื่อง “โคมไฟหนังตะลุง (Talung Lamp)” ซึ่งมีแรงบันดาลใจมาจากฝีมือและภูมิปัญญาของมนุษย์ด้านศิลปหัตถกรรม ที่ต้องการให้งานหัตถกรรมไทยยังคงอยู่ เพราะมนุษย์ต้องการมีหัตถกรรมที่มีความสวยงาม น่าใช้ และมีคุณค่าทางสุนทรียภาพควบคู่ไปกับประโยชน์ใช้สอย ดังนั้น กระบวนการออกแบบจึงเข้ามามีบทบาทและเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ โดยนำเอาลวดลายจากรูปหนังตะลุง มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบสร้างสรรค์ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์หัตถกรรมทางภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช เริ่มตั้งแต่การศึกษาข้อมูลหัตถกรรมภาพแกะหนังตะลุง ด้านรูปแบบ ลวดลาย และเอกลักษณ์ นำมาออกแบบร่าง เพื่อคัดเลือก และนำไปสู่กระบวนการสร้างผลิตภัณฑ์ทดลอง ทั้งในด้านรูปทรงและการใช้งาน โดยแยกออกเป็น 2 ประเภท คือ โคมไฟแบบตั้ง และโคมไฟเพดาน โดยมีแนวความคิดการออกแบบที่เรียบง่าย ใช้รูปทรงกลมซึ่งสามารถพับขึ้นรูป เพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้ายและขนส่ง แต่ยังทรงคุณค่าของกรรมวิธีการผลิตโดยการตอกและแกะ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของหนังตะลุงไว้เช่นเดิม

ผลงานวิจัยและสร้างสรรค์ “โคมไฟหนังตะลุง (Talung Lamp)” ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เรวัต สุขสิกาญจน์ ได้รับรางวัล 10 ผลงานสุดท้าย และรางวัล Popular Vote จากการประกวดหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ ประจำปี 2557 (Innovative Craft Award 2014) ในเทศกาลนวัตศิลป์นานาชาติ 2557 (International Innovative Craft Fair 2014) จัดโดย ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) ระหว่างวันที่ 27-30 มีนาคม 2557 ณ ศูนย์แสดงสินค้า BITEC บางนา กรุงเทพมหานคร ทั้งยังเข้ารอบ 20 ผลงาน ในการประกวดการพัฒนาภูมิปัญญาสู่นวัตกรรมระดับภูมิภาค : ภาคใต้ ภายใต้โครงการประกวดการพัฒนาภูมิปัญญาสู่นวัตกรรม ปี 2558 (IPC 2015) จัดโดยอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (WUSP) ร่วมกับ กรมทรัพย์สินทางปัญญา (DIP)

นอกจากนี้ ผลงานวิจัยและสร้างสรรค์ “โคมไฟหนังตะลุง (Talung Lamp)” ยังได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนภาคใต้ ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยเชิงศิลปะ (Research of Art) ในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2559 (Thailand Research Expo 2016) จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ เครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 17-21 สิงหาคม 2559 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร

ปัจจุบัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์เรวัต สุขสิกาญจน์ ยังคงต่อยอดแนวความคิดจากผลงานการออกแบบที่ได้มาจากกระบวนการวิจัยและสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา เพื่อนำมาสร้างแนวทางและแรงบันดาลใจสำหรับนักศึกษา ผู้ประกอบการ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรมในภาคใต้ เพื่อสร้างคุณค่าของผลงานให้สื่อถึงเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น (Local Characteristics) สามารถจำหน่ายเชิงพาณิชย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่สำคัญคือการได้อนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นในภาคใต้และสังคมไทยได้เป็นอย่างดี

ประวัติและผลงาน

สมพร อิสรไกรศีล เรียบเรียง