ตราสัญลักษณ์ สวนล. ภาษาไทย

ม. วลัยลักษณ์ ร่วมแสดงความยินดีกับชุมชนต้นน้ำบ้านเขาวัง อ.ร่อนพิบูลย์ ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 17

โครงการวิจัยและพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้จัดทำข้อมูลองค์ความรู้ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต และการขับเคลื่อนกิจกรรมของชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ เพื่อเกื้อกูลและอาศัยอยู่ร่วมกับผืนป่าต้นน้ำของชุมชนอย่างยั่งยืนของชุมชนต้นน้ำบ้านเขาวัง หมู่ที่ 12 ตำบลหินตก อำเภอร่อนพิบูลย์ เพื่อส่งเข้าพิจารณารางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 17 ประเภทชุมชน ในหัวข้อ “วิถีพอเพียง แบ่งปัน ผูกพัน ดิน น้ำ ป่า” ซึ่งจากการประเมินของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันลูกโลกสีเขียวระดับภาคใต้และระดับประเทศ ชุมชนผ่านการพิจารณาได้รับคัดเลือกให้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ชุมชนที่ได้ร่วมกันอนุรักษ์ ดิน น้ำ ป่า และการดำเนินชีวิตตามวิถีพอเพียง สืบสานพระราชปณิธานและแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ในระหว่างวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา บุคลากรจากโครงการวิจัยและพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ สถาบันวิจัยและพัฒนา ได้เดินทางร่วมกับตัวแทนชุมชนบ้านเขาวัง รวมจำนวน 10 คน ไปร่วมจัดนิทรรศการชุมชน ร่วมการเสวนาสืบสานพระราชปณิธาน วิถีพอเพียง แบ่งปัน ผูกพัน ดิน น้ำ ป่า และร่วมพิธีมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 17 ซึ่งมี นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานกรรมการสถาบันลูกโลกสีเขียว เป็นผู้มอบรางวัล พร้อมกันนี้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล รองประธานกรรมการสถาบันลูกโลกสีเขียว ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พระราชปณิธาน วิถีพอเพียง แบ่งปัน ผูกพัน ดิน น้ำ ป่า” และการเสวนา “แนวพระราชดำริวิถีพอเพียง แบ่งปัน ผูกพัน ดิน น้ำ ป่า” ผ่านผู้สืบสานพระราชปณิธาน อาทิ ดร.เฉลิมพล เกิดมณี นายอภิชาต จงสกุล ดร.รอยล จิตดอน ดร.วีระชัย ณ นคร และนายประเสริฐ สลิลอำไพ ในงานดังกล่าว มีชุมชน บุคคล ผู้ที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวจากทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรมสืบสานพระราชปณิธานกว่าประมาณ 300 คน ได้ร่วมกันทำพิธีถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปริมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช ร่วมกันด้วย

ชุมชนบ้านเขาวัง หมู่ที่ 12 ตำบลหินตก อำเภอร่อนพิบูลย์ เป็นพื้นที่ชุมชนที่โครงการวิจัยและพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ ได้ใช้งานวิจัยเป็นกลไกลในการหนุนเสริมและขับเคลื่อนกิจกรรมการอนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศ และการหนุนเสริมชุมชนดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงสู่การพึ่งพาตนเองและการอยู่ร่วมกับผืนป่าอย่างยั่งยืน ผ่านการดำเนินโครงการวิจัยภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการวิจัยจากการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และโครงการวิจัยจากการสนับสนุนของเครือข่ายการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ฐานราก สกอ.ภาคใต้ตอนบน

ประมวลภาพ